รู้หรือไม่? มะเร็งตับ นั้นมีอัตราการเสียชีวิตสูงและสามารถพบได้บ่อยในประเทศไทย ซึ่งจริง ๆ แล้ว คุณก็สามารถป่วยเป็นโรคมะเร็งตับได้ แม้ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนักๆ เหมือนอย่างที่เคยได้ยินกัน เพราะมะเร็งตับสามารถเกิดจากสาเหตุอื่นๆ อีก นั่นคืออะไร? แล้วเราจะมีวิธีป้องกันอย่างไร? มาอ่านกันเลย
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ป่วยเป็นมะเร็งตับ
1. ตับแข็ง เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งตับ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคไวรัสตับอักเสบบีหรือซีเรื้อรัง ตับอักเสบจากไขมันพอกตับ หรือดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจนเกิดตับแข็งในที่สุด
2. เกิดจากการป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ซี ผู้ป่วยจะเกิดอาการตับอักเสบตามมาจนกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง หรือตับแข็งได้ จนส่งผลให้เป็นมะเร็งตับในที่สุด
3. การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปจนเกิดตับแข็งนำมาสู่การเป็นมะเร็งตับในที่สุด
4. การได้รับสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) จากเชื้อราที่อยู่ในถั่วลิสงที่อับชื้น พริกแห้ง กระเทียม และหัวหอม เป็นต้น การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนด้วยเชื้อราดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นประจำ เป็นระยะเวลานาน ก็ทำให้เป็นต้นเหตุของมะเร็งตับได้
5. การป่วยเป็นโรคไขมันพอกตับ โรคตับแข็ง มะเร็งท่อน้ำดีของเนื้อตับ การติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ และกลุ่มโรคพันธุกรรมที่ทำให้มีเหล็กพอกตับ ทำให้ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับตามมาได้
6. การบริโภคอาหารที่มีสารไนโตรซามีน (Nitrosamine) ที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารจำพวก ปลาร้า ปลาส้ม เนื้อรมควัน หรืออาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เนื้อเค็ม เป็นต้น
7. การสูบบุหรี่จัด โรคอ้วน โรคเบาหวาน และกลุ่มโรคเมตาบอลิก
8. การทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติก โดยต้องทำงานในส่วนที่ใกล้ชิดกับสาร Vinyl Chloride และ Thorium Dioxide เป็นเวลานาน
9. การใช้ฮอร์โมนเพศชายเพื่อเร่งสร้างกล้ามเนื้ออย่างผิดวิธี เช่น ฮอร์โมนประเภท Anabolic Steroids
สาเหตุของมะเร็งตับที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยในประเทศไทย พบว่าอันดับหนึ่งมาจาก “ไวรัสตับอักเสบบี” มากที่สุด ที่น่าตกใจคือส่วนใหญ่มาจากการติดต่อจากแม่สู่ลูก ส่วนข้อมูลสากลที่สำรวจในประเทศที่เจริญแล้ว ยังคงพบว่าสาเหตุหลักมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไป
การป้องกันและลดความเสี่ยงของมะเร็งตับ
เบื้องต้นคือการหลีกเลี่ยงสาเหตุและปัจจัย ที่ทำให้เกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ ดังนี้
1. ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงต่อการติดไวรัสตับอักเสบซีซึ่งติดต่อทางเลือด เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การสักโดยไม่ถูกสุขลักษณะ หรือการฉีดสารเสพติดทางเส้นเลือด เป็นต้น
2. งด หรือดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยลง และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการสูดควันบุหรี่
3. หลีกเลี่ยงโรคอ้วน ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะไขมันพอกตับ ที่อาจนำไปสู่ตับแข็งและมะเร็งตับได้
4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีสารที่จะทำให้เกิดมะเร็งตับได้ เช่น สารอะฟลาท็อกซินบี1 ที่มักพบในถั่วลิสงดิบ ข้าวโพด พริกแห้ง กระเทียม และหัวหอม หรือสารไนโตรซามีน ที่มักพบในอาหารจำพวกโปรตีนหมัก เช่น ปลาร้า ปลาส้ม หมูส้ม และแหนมเป็นต้น หรืออาหารจำพวกเนื้อสัตว์ที่ผสมดินประสิว เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เนื้อเค็ม และปลาเค็มเป็นต้น
5. หากพบว่าป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้มีความเสี่ยงของการเกิดตับแข็ง เช่น โรคเหล็กพอกตับ ควรรีบรักษาให้หายขาด ทั้งนี้ การตรวจยีนในผู้ป่วยที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งตับ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการป่วยเป็นโรคมะเร็งตับที่มีสาเหตุมาจากพันธุกรรมได้
6. ไม่รับประทานปลาน้ำจืดแบบดิบๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ
7. ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเพิ่มโปรแกรมการตรวจค่าตับ หรือตรวจคัดกรองหามะเร็งตับ
อาการของโรคมะเร็งตับ
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งตับในระยะแรก มักไม่แสดงอาการให้เห็นเด่นชัด แต่เมื่อป่วยมากขึ้น อาจแสดงอาการเหล่านี้
1. ท้องบวมขึ้นกว่าปกติ มีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณข้างขวาส่วนบน บางคนจะปวดท้องจนปวดร้าวไปที่หลังหรือไหล่ หากเป็นมากจะคลำพบก้อนที่บริเวณส่วนท้องข้างขวาบนซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ หรือมีอาการปวดชายโครงด้านขวา
2. รู้สึกเบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร ทำให้น้ำหนักตัวลดลง หรือบางทียังกินอาหารได้บ้างแต่กลับพบว่าน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
3. มีอาการจุกเสียดท้อง ท้องอืด
4. รู้สึกอ่อนเพลีย
5. ตัวเหลืองและตาเหลือง
6. ขาบวมทั้ง 2 ข้าง
7. อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ จากภาวะตับแข็ง
การรักษาโรคมะเร็งตับ
การรักษามะเร็งตับ จะขึ้นกับระยะของโรคเป็นหลัก โดยพิจารณาจากขนาดของก้อนมะเร็ง จำนวนก้อน การแพร่กระจายของมะเร็ง รวมถึงสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย หากมองที่แผนการรักษาจะสามารถแบ่งระยะของโรคได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ภาวะที่สามารถผ่าตัดหรือปลูกถ่ายตับได้ ภาวะที่ผ่าตัดไม่ได้แต่โรคยังไม่กระจาย และภาวะที่โรคได้กระจายไปนอกตับและอวัยวะอื่นแล้ว โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย
การรักษาโรคมะเร็งตับในระยะแรก ทำได้โดยการผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออก หรือใช้วิธีการปลูกถ่ายตับ แต่ถ้าอยู่ในระยะโรคที่ก้อนเนื้อร้ายนั้นมีขนาดใหญ่มาก หรือมี 3-5 ก้อนขึ้นไป อาจใช้วิธีการรักษาด้วยวิธีฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางเส้นเลือดแดง สำหรับผู้ป่วยระยะลุกลามออกไปนอกตับแต่การทำงานของตับและสุขภาพโดยรวมยังแข็งแรงจะได้รับยาเคมีบำบัดหรือยาTargeted Therapy ซึ่งจะออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายแพทย์จะแนะนำการรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างมีความสุข
มะเร็งตับในระยะแรกนั้น ผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการผิดปกติ ต่อมาเมื่อเข้าสู่ระยะลุกลามจึงเริ่มมีอาการ ดังนั้นหากทราบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ดื่มแอลกอฮอร์มาก เป็นไวรัสตับอักเสบบี เป็นไวรัสตับอักเสบซี เป็นตับแข็ง เป็นไขมันพอกตับ ควรมารักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ เนื่องจากหากตรวจพบมะเร็งตับในระยะแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรงแล้ว เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโตมาก มีน้ำในช่องท้อง ซึ่งอาการดังกล่าวจะอยู่ในระยะที่ไม่สามารถผ่าตัดได้แล้ว ดังนั้นการตรวจคัดกรองเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก สิ่งสำคัญคือ “ หากเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็งตับ ดังที่กล่าวไปข้างต้น ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรอง”
สาระสุขภาพโดยแพทย์หญิง ณัฐติยา ถาวรพัฒนพงศ์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหาร บนแอปฯ หมอดี
หากพบสัญญาณผิดปกติเพียงเล็กน้อย ที่อาจบ่งบอกได้ถึงการป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ อย่ารอช้าจนอาการลุกลาม ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อคัดกรองเบื้องต้นได้ ผ่านแอปฯ หมอดี
ใช้งานแอปฯ หมอดี ได้ง่ายๆ ด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้
1. ดาวน์โหลดแอปฯ คลิก>> https://mordee.app.link/mordee จากนั้นเลือกเมนูโปรไฟล์ เพื่อลงทะเบียนเข้าใช้งาน
2. ไปที่หน้าแรกของแอปฯ กดแถบค้นหา เลือก แผนกมะเร็ง
3. เลือกแพทย์ที่ต้องการปรึกษา แล้วทำนัดหมาย โดยเลือกวันและเวลาที่ต้องการ แล้วเลือกรูปแบบการปรึกษาเป็น วิดีโอคอล โทร หรือ แชต จากนั้นทำการชำระเงิน หรือกรอกโค้ดส่วนลด (ถ้ามี)
4. เข้าห้องสนทนาในแอปฯ เพื่อทำการปรึกษาแพทย์ เมื่อถึงเวลานัดหมาย
5. รอสรุปผลการปรึกษาจากแพทย์ พร้อมใบสั่งยา(หากมี) โดยสามารถสั่งซื้อยา แล้วรอรับยาที่บ้านได้
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line ID: @mordeeapp
#MorDee #หมอดี #หมอประจำบ้านในมือคุณ #TrueHEALTH