เมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนบางชนิดไปกระตุ้นการผลิตไขมันในต่อมไขมัน จะทำให้เกิดผิวมัน รูขุมขนกว้าง และเกิดเป็นสิวฮอร์โมนได้ แต่ถ้ารู้ต้นตอปัญหาที่แท้จริง และรู้วิธีการรักษาที่ถูกต้อง ก็จะสามารถทำให้ปัญหาสิวฮอร์โมนค่อยๆ ดีขึ้น
รู้จักต้นตอของสิวฮอร์โมน เกิดขึ้นได้อย่างไร?
สิวฮอร์โมน ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะช่วงที่สาว ๆ ใกล้เป็นประจำเดือนเท่านั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกช่วงวัย ที่มีระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงหรือฮอร์โมนไม่สมดุล มักพบได้บ่อยในวัยรุ่น อายุ 15-18 ปี โดยร่างกายจะผลิตฮอร์โมนเพศชายในสัดส่วนที่มากกว่าฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้เกิดผิวมัน รูขุมขนกว้าง เป็นต้นเหตุของการเกิดสิวฮอร์โมนนั่นเอง
แต่นอกจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแล้ว บางครั้งที่เราเกิดความเครียดหรือต้องอยู่ในภาวะที่กดดัน ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลขึ้นมา ฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นการผลิตไขมันของต่อมไขมันใต้ผิวหนังได้ ทำให้เกิดน้ำมันบนผิวกลายเป็นไขมันส่วนเกิน นำไปสู่การอุดตันของรูขุมขน จนทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นเกิดการอักเสบ และเป็นสิวได้เช่นกัน
สังเกตง่ายๆ สิวฮอร์โมน เป็นแบบไหน?
- สิวฮอร์โมนมักจะเกิดขึ้น 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน หรือเห่อมากขึ้นในช่วงที่มีความเครียด
- ลักษณะของสิวฮอร์โมน เป็นได้ทั้งสิวอักเสบ และสิวอุดตัน
- สิวฮอร์โมนมักจะเกิดขึ้นที่เดิม บริเวณเดิมซ้ำ ๆ และเป็นเรื้อรัง
- สิวฮอร์โมนมักจะขึ้นบริเวณ T-Zone รอบปาก คาง กราม บริเวณกรอบหน้า บริเวณแผ่นหลังและหน้าอก
สิวฮอร์โมน รักษาอย่างไร?
สิวฮอร์โมนเกิดจากการที่ฮอร์โมนแปรปรวน หรือเกิดจากความเครียด เป็นปัจจัยภายในที่เราไม่สามารถควบคุมได้ การรักษาสิวฮอร์โมนจึงมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของคนไข้แต่ละคน ได้แก่
การรักษาสิวฮอร์โมนด้วยยาทา
ยาที่ใช้รักษาสิวฮอร์โมนมีทั้งกลุ่มที่ละลายหัวสิว และฆ่าเชื้อสิว แต่ควรเลือกยาที่ไม่มีสารก่อให้เกิดอันตรายอย่างเช่น สเตียรอยด์ สารปรอท เพราะผิวหน้าจะยิ่งเกิดการแพ้มากกว่าเดิม สิวอาจจะหายไปในช่วงแรก เพียงชั่วคราว แต่ก็จะกลับมาเห่อขึ้นได้อีก
*หมายเหตุ ไม่ควรใช้ยาทาฆ่าเชื้อทาเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาในระยะยาวได้
การรักษาสิวฮอร์โมนด้วยยาแบบรับประทาน แบ่งเป็น 3 ชนิด คือ
- ยาปฏิชีวนะ ชนิดกินเพื่อรักษาสิว มักต้องใช้ยานานหลายสัปดาห์จึงจะมีประสิทธิภาพในการลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียก่อสิว ต้องกินต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจมีผลแทรกซ้อน และผลเสียต่อร่างกายได้
- ยาคุมกำเนิด ที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสติน จะช่วยรักษาสิวได้ เนื่องจากตัวยาจะไปลดระดับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนลง ทำให้การผลิตไขมันจากต่อมไขมันใต้ผิวหนังลดลง ซึ่งช่วยลดการเกิดสิว
- ยากลุ่มวิตามินเอ เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาสิวในช่วงที่เห่อมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ อย่างไรก็ดี ยานี้อาจมีผลทำให้ปากแห้งตาแห้ง, ค่าการทำงานของตับผิดปกติ หรือ ค่าไขมันในเลือดสูง นอกจากนี้ยังห้ามให้ในหญิงตั้งครรภ์
*หมายเหตุ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังโดยเฉพาะ
การรักษาสิวฮอร์โมน เสริมด้วยหัตการอื่นๆ
ใช้หัตการอื่นร่วมด้วย เช่น กดสิว ทรีทเมนท์ลดสิว เลเซอร์ ฉายแสง
กรณีที่เป็นสิวฮอร์โมนรุนแรง เป็นสิวเรื้องรัง หรือมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น อ่อนเพลีย รอบเดือนมาไม่ปกติ หรือนอนไม่หลับ
สามารถปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเช็กอาการ และขอคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนังบนแอปฯ หมอดี ได้ตลอดเวลา
สาระสุขภาพโดย พญ.พิมพา ตันธนศรีกุล แพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง บนแอปฯ หมอดี
มีปัญหาเรื่องผิว สิวฮอร์โมน ความงาม การดูแลสุขภาพ หรืออยากรู้เทคนิคชะลอวัย
ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังประจำแอปฯ หมอดี ได้ง่าย ๆ ด้วย 5 ขั้นตอนดังนี้
1. ดาวน์โหลดแอปฯ คลิก>> https://mordee.app.link/mordee จากนั้นเลือกเมนูโปรไฟล์ เพื่อลงทะเบียนเข้าใช้งาน
2.ไปที่หน้าแรกของแอปฯ กดแถบค้นหา เลือกปรึกษาแพทย์ในแผนกโรคผิวหนัง หรือแผนกผิวหนัง&ชะลอวัย
3. เลือกแพทย์ที่ต้องการปรึกษา แล้วทำนัดหมาย โดยเลือกวันและเวลาที่ต้องการ แล้วเลือกรูปแบบการปรึกษาเป็น วิดีโอคอล โทร หรือ แชต จากนั้นทำการชำระเงิน หรือกรอกโค้ดส่วนลด (ถ้ามี)
4. เข้าห้องสนทนาในแอปฯ เพื่อทำการปรึกษาแพทย์ เมื่อถึงเวลานัดหมาย
5. รอสรุปผลการปรึกษาจากแพทย์ พร้อมใบสั่งยา(หากมี) โดยสามารถสั่งซื้อยา แล้วรอรับยาที่บ้านได้
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line ID: @mordeeapp
#MorDee #หมอดี #หมอประจำบ้านในมือคุณ #TrueHEALTH