-
โรคงูสวัด ทำให้รู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ผิวบริเวณที่เป็น เจ็บแปล๊บ ๆ เหมือนโดนเข็มทิ่ม หรือรู้สึกเหมือนถูกไฟฟ้าช็อต1
-
กว่า 90% ของผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อโรคงูสวัด2
โรคงูสวัด จัดเป็นภัยเงียบของผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป ถึงแม้ภายนอกจะยังดูแข็งแรงดี แต่ก็มีสิทธิ์ที่จะเกิดโรคได้เมื่อร่างกายอ่อนแอลง ไม่เฉพาะตัวผู้ป่วยเองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังลูกหลานที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยอีกด้วย
สาเหตุของโรค
โรคงูสวัด จะเกิดขึ้นในผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนเท่านั้น เมื่อหายจากอีสุกอีใสแล้ว แต่เชื้อไวรัส Varicella ที่ทำให้เกิดโรคก็ยังไม่หายไปจากร่างกาย แต่กลับไปซ่อนตัวตามปมประสาท รอวันที่ร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันตก เชื้อไวรัสจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนทำให้เส้นประสาทอักเสบ และกลายเป็นโรคงูสวัด
ดังนั้น ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน จึงมีความเสี่ยงเป็นโรคงูสวัด เพราะมีเชื้ออยู่ในร่างกายอยู่แล้ว
ระยะและอาการของโรค
อาการของงูสวัดจะเริ่มจาก รู้สึกปวดแสบปวดร้อนบนผิวหนังก่อนจะมีผื่นแดงปรากฏขึ้นบริเวณดังกล่าว จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส แล้วกลายเป็นตุ่มหนอง ในบางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หลังจากนั้นตุ่มจะแตก และตกสะเก็ดในที่สุด และหายได้ในเวลา 2 สัปดาห์1 และหลังจากหายแล้วอาจยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทได้
ส่วนในผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี อาจมีอาการรุนแรงได้มากกว่า มีระยะเวลาของโรคนานกว่า และอาจมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในระยะยาว เช่น มีอาการปวดเส้นประสาท (Postherpetic neuralgia - PHN) ซึ่งอาจปวดเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ หลายเดือน หรือหลายปีได้4
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากอาการของโรคงูสวัดแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง หรือหากเชื้องูสวัดขึ้นตาก็เสี่ยงทำให้ตาบอดได้ 1
ยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอย่าง โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)1 หรือ โรคหลอดเลือดหัวใจ3 ไปจนถึง กล้ามเนื้อใบหน้าเป็นอัมพาตครึ่งซีก1 ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นได้เช่นกัน
การป้องกันโรคงูสวัด
แม้ว่าโรคงูสวัดจะมีอันตรายกว่าที่คิด โดยเฉพาะกับผู้มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว อย่าง เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไต แต่ก็สามารถป้องกันการเกิดโรคไว้ก่อนได้ ด้วยวิธีง่าย ๆ 4
เริ่มต้นที่ตัวเอง
- สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ยังแข็งแรงดี สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองง่าย ๆ
- กินอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
เริ่มต้นที่บ้าน
ลูกหลานสามารถดูแลพ่อแม่ ป้องกันไม่ให้เกิดโรคงูสวัดได้ด้วยการจัดบ้านให้เหมาะสมต่อวิถีชีวิตประจำวันของผู้สูงวัย และสามารถพาพ่อแม่รับวัคซีนสำคัญ ๆ รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เพื่อป้องกันความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้
ชนิดของวัคซีน5
ขณะนี้ในประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันงูสวัด 2 ชนิด ได้แก่
วัคซีนหน่วยย่อยรีคอมบิแนนท์ (RZV) ฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป หรือ ผู้อายุ 18 ปีขึ้นไปที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีความเสี่ยงต่อการเป็นงูสวัด ส่วนวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (LZV) ใช้ฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
ทั้งนี้ผู้รับวัคซีนรวมถึงลูกหลาน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ และรับการฉีดอย่างถูกต้อง
งูสวัด เป็นโรคที่มีความรุนแรง และไม่รู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดโรคขึ้นเมื่อไร ทางที่ดีที่สุดคือ ป้องกันการเกิดโรคไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ตามวิธีการดังกล่าวข้างต้น เพื่อไม่ให้งูสวัดรบกวนการใช้ชีวิตในระยะยาว1
ข้อมูลอ้างอิง
- Harpaz, R. (2008). MMWR, 57(RR-5), 1–CE4.
- Migasena, S.(1997). International Journal of Infectious Diseases, 2, 26-30.
- Erskine N. (2017) PLoS One;12:e0181565
- Marra F. (2020). Open Forum Infectious Diseases;609
Infectious Disease Association of Thailand.(2023). Recommended Adult and Elderly Immunization Schedule.
NP-TH-HZU-WCNT-240009 | ธันวาคม 2024